การอ่านหนังสือเปลี่ยนแปลงสมองของมนุษย์อย่างไร
ภาษาเขียนได้ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับนักอ่าน ในยุคกลาง เมื่อจำนวนของคนอ่านหนังสือออกเพิ่มขึ้น จำนวนหนังสือก็เพิ่มขึ้นด้วย การอ่านได้กลายเป็นหนทางสำหรับความก้าวหน้า ในคริสต์ศตวรรษที่ 2 นักเขียนได้กำหนดกฎสำหรับลำดับอักษรที่เป็นมาตรฐาน การกำหนดวรรคเพิ่มความสามารถในการทรงจำทำให้สามารถอ่านได้เร็วขึ้นและเข้าใจได้มากขึ้นส่งผลให้วงจรในสมองเปลี่ยนแปลงไปมาก การอ่านหนังสือยาว ๆ ทำให้ผู้อ่านต้องอาศัยสมาธิอย่างมากตลอดเวลาอันยาวนานราวกับพวกเขาหลงเข้าไปในหนังสือ การพัฒนาวินัยทางจิตวิญญาณเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของสมองมนุษย์มักวอกแวกง่าย
การอ่านหนังสือเป็นกระบวนการฝึกฝนความคิดที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มันต้องการการประคับประคอง และความตั้งใจอย่างไม่เบี่ยงเบนต่อสิ่งเร้าภายนอก ผู้อ่านต้องฝึกสมองของตัวเองให้เพิกเฉยต่อสิ่งเร้าทุกอย่างรอบตัว และต่อต้านแรงกระตุ้นที่จะดึงพวกเขาออกจากความสนใจ พวกเขาต้องแปลงหรือทำให้การเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทเข้มแข็งเพื่อต่อต้านสัญชาติญาณของการวอกแวก
Vaughan Bell นักจิตวิทยาแห่ง King’s College พบว่า ความสามารถในการสนใจอย่างจดจ่อต่องานเพียงอย่างเดียวโดยไม่ถูกแทรกแซงเลยนั้นเป็นความผิดปกติอย่างยิ่งยวดในประวัติศาสตร์ของการพัฒนาการด้านจิตวิทยา อย่างไรก็ดีมนุษย์ได้ปลูกฝังความสามารถในการให้ความสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่องก่อนการมีหนังสือและการประดิษฐ์อักษรแล้ว นั่นคือ การเป็นช่างกลุ่มช่างต้องฝึกสมองของพวกเขาให้สามารถควบคุมและมีสมาธิกับสิ่งที่พวกเขาสนใจ
การอ่านหนังสือไม่เพียงมีค่าแค่ให้ความรู้กับผู้อ่าน แต่มันยังเป็นหนทางที่คำพูดของผู้เขียนจะไปเต้นเร้าในจิตใจของผู้อ่าน บรรยากาศของความเงียบในการอ่านหนังสือต่อเนื่องกันอย่างยาวนานจะทำให้ผู้อ่านสามารถที่จะสรุป เปรียบเทียบและบ่มเพาะความคิดของตัวเองได้ ความคิดของนักอ่านจึงลึกซึ้งขึ้นเมื่อพวกเขาอ่านลึกขึ้น การอ่านหนังสือเป็นการทำสมาธิแบบหนึ่ง มันไม่เกี่ยวข้องกับการปลดปล่อยจิตใจ แต่มันเป็นการเติม หรือเสริมสร้างจิตใจมากกว่า เทคโนโลยีของหนังสือเท่านั้นที่ทำให้ความผิดปกติที่แปลกนี้เกิดขึ้นได้
การอ่านและการเขียนไม่ใช่การกระทำโดยธรรมชาติ แต่มันเป็นการกระทำที่มีจุดมุ่งหมาย จิตใจมนุษย์ต้องถูกสอนให้แปลลักษณะที่มองเห็นให้กลายเป็นภาษาที่เข้าใจได้ การอ่านและการเขียนต้องอาศัยการเรียนรู้และฝึกปรือ และมันเป็นการจงใจสร้างของสมอง การทดลองพบว่า สมองของผู้ที่อ่านหนังสือได้และไม่ได้มีความแตกต่างกัน ไม่เพียงในเรื่องการเข้าใจภาษา แต่ยังเกี่ยวข้องกับการแปรความสิ่งที่เห็น การให้เหตุผลและวิธีการในการสร้างความทรงจำด้วย
นอกจากนี้นักประสาทวิทยายังพบว่า ผู้ที่เรียนอักษรที่ไม่เรียงตามอันดับอักษร (Logosyllabic) เช่น ภาษาจีน ก็ยังสร้างวงจรในสมองที่แตกต่างจากพวกที่เรียนอักษรเสียง (Phonetic Alphabet)Maryanne Wolf นักจิตวิทยาจาก Tufts University เขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า แม้การอ่านจะใช้สมองส่วน Frontal และ Temporal แต่กลุ่มที่เรียนอักษรที่ไม่เรียงตามอันดับอักษร เช่น ภาษาจีน จะดูเหมือนว่า สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับทักษะทางด้านความทรงจำเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวจะเด่นกว่า สมองที่ใช้ในการอ่านภาษาจากสัทอักษรหรืออักษรจากเสียงพูด (Phonetic Alphabet) ยังถูกกระตุ้นน้อยกว่าสมองที่ใช้ในการอ่านอักษรภาพหรืออักษรที่ไม่เรียงตามอันดับอักษร (Logosyllabic) ด้วย การศึกษายังพบว่าสมองยังทำงานด้วยตำแหน่งที่ต่างกันแม้แต่จะใช้ตัวอักษรที่ใกล้เคียงกันด้วย เช่น คนใช้ภาษาอังกฤษ สมองส่วนที่สัมพันธ์กับการแปลรหัสด้วยสายตาจะทำงานมากกว่าคนใช้ภาษาอิตาเลี่ยน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะภาษาอิตาเลี่ยนออกเสียงเหมือนตัวเขียนมากกว่าภาษาอังกฤษ
เมื่อสมองของผู้ที่อ่านหนังสือได้กับไม่ได้แตกต่างกัน และการอ่านหนังสือเป็นเสมือนหนึ่งการทำสมาธิ พ่อแม่จึงควรส่งเสริมให้เด็กโดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นได้มีโอกาสอ่านหนังสือยาว ๆ เพื่อแก้ปัญหาโรคสมาธิสั้นและเพิ่มความสามารถในการบ่มเพาะความคิดด้วย
ที่มา : http://www.naewna.com/columnonline/10453
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น